ประวัติและความเป็นมาของตำบลน้ำอ้อม
เหตุที่ได้ชื่อ “น้ำอ้อม” เนื่องจากพื้นที่เป็นหลุมแอ่งกระทะ พร้อมลำน้ำล้อมรอบ และเหมาะแก่การทำนาปลูกข้าวแต่ละปี มีผลผลิตมากมาย และในช่วงก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวถึงแม้จะเป็นเขตทุ่งกุลาก็เป็นพื้นที่สีเขียวและอุดมสมบูรณ์มาก ดั่งคำขวัญที่ว่า
“น้ำอ้อมถิ่น ดินขอมเก่า น้ำนาข้าวดีอุดม หลวงพ่อชมอยู่คู่บ้าน สื่อสืบสาน แซนโฎนตา ไหว้ศรัทธา หลวงปู่วรพรต ลือเลิศรสข้าวเม่าหอมหวาน แดนจักสาน งานประณีต แหล่งผลิตผ้าไหมงาม ถิ่นที่ทำสายสมรเงินล้าน สูงตระหง่านยางแปดร้อยปี เขตข้าวดี หอมมะลิโลก”
เดิมเคยมีชนเผ่าจีนฮ้อและขอมโบราณอาศัยซึ่งเคยมีร่องรอยอารยะธรรมทิ้งไว้เป็นหลักฐานผู้มาตั้งหมู่บ้านครั้งแรก มีบุคคล 3 ท่าน คือ
1 เฒ่าดี่
2 เฒ่านาม
3 เฒ่าภาษีช้าง
ทั้งสามคนนี้เป็นข้าทาสบริวารของพระยาศรีเกษตร ราธิชัย (อุปฮาดสัง) ประมาณปี พ.ศ. 2417 ได้รับสั่งให้เฒ่าดี่ เฒ่านาม เฒ่าภาษีช้าง ออกสำรวจพื้นที่ทางทิศตะวันตกของเมืองศรีเกษ เพื่อขยายแหล่งทำการเกษตรแห่งใหม่ ท่านทั้งสามพร้อมบุคลากรคาราวานเกวียนช้าง ม้าเป็นพาหนะ ในการเดินทางเพราะเส้นทางแสนจะกันดารลำบากมากกว่าจะถึงต้องใช้เวลานาน ทุกคนต่างพอใจในความอุดมสมบูรณ์ของภูมิประเทศ จึงกลับไปรายงานเจ้านายแล้วอาสามาตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2420 ทางด้านตะวันตกซึ่งมีสัญลักษณ์ คือต้นยางใหญ่
โดยเจ้าเมืองศรีเกษ อนุญาตให้ตั้งหมู่บ้านได้ สามเฒ่าจึงมาตั้งหมู่บ้านขึ้นพร้อมบริวารมีแค่สามครอบครัว ชื่อว่าบ้านน้ำอ้อม ที่ตั้งชื่อบ้านน้ำอ้อมก็เพราะตั้งตามสภาพภูมิศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งมีน้ำอ้อมรอบหมู่บ้านด้วนความอุดมสมบูรณ์ ต่อมามีผู้คนอพยพเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ออกตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ในปี พ.ศ. 2455 เฒ่าดี่ เฒ่านาม เฒ่าภาษีช้าง จึงได้เป็นสามต้นตะกูลเฒ่าดี่ ได้นามหลวง กตัญญุตา (กะตะโท) เฒ่านามได้มหาโยธา(ทับงาม) เฒ่าภาษีช้างหลวงสุขา (จ่ายจันทร์) ต่อมาได้มีผู้อพยพจากสุรินทร์ นำโดยตาตาด เฒ่าเสมี่ยนอ่อน ได้อพยพตั้งถิ่นฐานทางซีกตะวันตก เรียกว่าคุ้มเขมร เป็นตระกูลหมุกหมาก, ต้นโคตร จากนั้นจึงมีตระกูลต่างๆ อพยพเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามสืบมา มีวัดเพียง 1 แห่ง คือ วัดสว่างอารมณ์บ้านน้ำอ้อม ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านสว่างธรรมวิเศษ บ้านสว่างธรรมวิเศษ ชื่อเดิม บ้านน้ำอ้อม เดิมนั้น ตำบลน้ำอ้อมเป็นพื้นที่เขตการปกครองของตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ.2498 ตำบลน้ำอ้อม ได้แยกตัวออกจากตำบลเกษตรวิสัย ออกมาเป็นตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดโดยมี นายชุน กะตะโท เป็นกำนันคนแรก มีหมู่บ้านขึ้นตรงต่อ ตำบลน้ำอ้อม ทั้งหมด 9 หมู่บ้าน
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ้อม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวพัฒนา หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเกษตรวิสัย ห่างจากตัวอำเภอ 8 กิโลเมตร มีพื้นที่ในความดูเเลทั้งหมด 28.66 ตารางกิโลเมตร หรือ 17,913 ไร่
สภาพพื้นที่
ตำบลน้ำอ้อมมีพื้นส่วนใหญ่ที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ ในฤดูฝนเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ของตำบล สภาพดินเป็นดินเหนียวเหมาะกับการปลูกข้าว และมีหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชทุกชนิด แต่ในฤดูน้ำหลากจะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี และถ้าฤดูแล้งก็แล้งขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค
ตำบลน้ำอ้อม มีอาณาเขตพื้นที่อยู่ติดกับท้องถิ่นใกล้เคียง 4 ตำบล คือ
ทิศเหนือ ติดกับตำบลโนนสว่าง , ตำบลเหล่าหลวง อำเภอเกษตรวิสัย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย
ทิศตะวันตก ติดกับตำบลขี้เหล็ก อำเภอปทุมรัตต์
ทิศใต้ ติดกับตำบลเมืองบัว , ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย
การปกครอง
ตำบลน้ำอ้อม เป็นตำบลหนึ่งใน 13 ตำบลของอำเภอเกษตรวิสัย ซึ่งได้รับการประกาศจากกระทรวงมหาดไทยแยกเขตการปกครองเป็นตำบลน้ำอ้อม การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล โดยที่มาตรา 40 และมาตราที่ 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในปีพุทธศักราช 2537 บัญญัติให้ จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและให้โอนงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบล ไปเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลโดยยกฐานะจากสภาตำบลน้ำอ้อม เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ้อม ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนพิเศษ 52 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 3,637 แห่ง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ประชากรทั้งหมดจำนวน 5,014 คน แยกเป็นชาย 2,523 คน และ หญิง 2,491 คน
บ้านยางจ้อง หมู่ที่ 1
บ้านน้ำอ้อม หมู่ที่ 2
บ้านโนนจาน หมู่ที่ 3
บ้านน้ำอ้อม หมู่ที่ 4
บ้านหนองแวงน้อย หมู่ที่ 5
บ้านสว่างอารมณ์ หมู่ที่ 6
บ้านสว่างธรรมวิเศษ หมู่ที่ 7
บ้านหนองบัวพัฒนา หมู่ที่ 8
บ้านส้มโฮงพัฒนา หมู่ที่ 9
วิสัยทัศน์ตำบล
จากปัญหาและความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ้อม ได้ระดมความคิดจากทุกภาคส่วน ในการกำหนดวิสัยทัศน์การทำงานของตำบลร่วมกัน ว่า “ตำบลน้ำอ้อมชุมชนแห่งความสุข คนมีคุณภาพชีวิตดี มีจิตสำนึกรักถิ่นฐาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน จัดการน้ำอย่างพอดี เกษตรอินทรีย์ถ้วนทั่ว ครอบครัวอบอุ่น เกื้อกูลแบ่งปัน สร้างสรรค์พัฒนา การศึกษาก้าวหน้า พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีพอเพียง” ซึ่งมีความหมายดังนี้
วิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ้อม“ชุมชนน่าอยู่สาธารณูปโภคดีพร้อม ข้าวหอมมะลิมีมาก ของฝากข้าวเม่าหวาน สืบสานงานประเพณี สุขภาพดีถ้วนหน้าการศึกษาก้าวไกล ”
“ชุมชนน่าอยู่สาธารณูปโภคดีพร้อม ” หมายถึง ตำบลน้ำอ้อมเป็นชุมชนที่น่าอยู่ มีน้ำใจไมตรีต่อกันและมีความสามัคคีเป็นหมู่คณะเห็นได้จากการทำกิจกรรมต่างๆจะได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี ได้พบปะสังสรรค์ มีการละเล่นต่างๆ ตามวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิม ทำให้เกิดความรักสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นตลอดสาธารณูปโภคที่พร้อม
“ข้าวหอมมะลิมีมาก ของฝากข้าวเม่าหวาน” หมายถึง ตำบลน้ำอ้อมเป็นตำบลที่มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ตลอดทั้งปี จากการปลูกข้าวหอมมะลิและการทำข้าวเม่าขายที่สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี เพียงแค่นำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตก็สามารถมีรายได้จุนเจือครอบครัว
“สืบสานงานประเพณี” หมายถึง ด้วยตำบลน้ำอ้อมมีประเพรีบุญข้าวเม่าเป็นประเพณีใหญ่ของตำบลและจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและยังมีประเพณีบุญข้าวสากเขมรที่มีแต่ชุมชนน้ำอ้อมเท่านั้นที่ยังหลงเหลือประเพณีดังกล่าวไว้ และมีบุญประเพณี ฮีต 12 ครอง 14 ตลอดทั้งปี ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ร่วมทำบุญ
“สุขภาพดีถ้วนหน้า” หมายถึง ตำบลน้ำอ้อมเป็นชุมชนตัวอย่างเรื่องการจัดการสุขภาพระดับตำบล และประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดีและอายุยืนโดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นปูชนียบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือและเชื่อฟังของลูกหลานภายในครัวเรือนและหมู่บ้าน มีการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ เกิดการแบ่งปันอาหารการกินในวงเครือญาติ ทำให้เกิดความผูกพัน รักใคร่สามัคคีอย่างไม่มีวันจบสิ้น
“การศึกษาก้าวไกล” หมายถึง ชาวตำบลน้ำอ้อม เป็นตำบลที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับบุตรหลานอย่างแพร่หลาย จนถูกมองว่าเป็นการแข่งขันกันทางด้านการศึกษา เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมีอาชีพรับราชการเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่ของตนเอง ในการพัฒนาจึงเป็นเรื่องง่าย เพราะมีความรู้จักคุ้นเคยกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงมีเวลาทำอาชีพเสริม เช่นปลูกผักสวนครัว ทำนา ทำไร่ เป็นการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนในเขตพื้นที่